หลัง RATCH ประกาศกำไรสุทธิ Q2/63 จำนวน 1.1 พันลบ. ลดลง 45%YoY ราคาหุ้นก็ตอบรับด้วยการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง เพราะช่วง Q2 ถือเป็นไฮซีซั่นของ RATCH ขณะที่โลว์ซีซั่นรออยู่ในช่วง Q3 ซึ่งเห็นแบบนี้แล้ว ใครๆก็ว่าแย่แน่ๆ แต่จะแย่จริงอย่างที่หลายคนกังวลหรือไม่? ต้องติดตาม!
*** ราคาแกว่งตัวกรอบแคบร่วม 1 เดือน
ราคาหุ้น บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH วันทำการก่อนหน้า (11 ก.ย.63) แกว่งตัวในกรอบแคบ ก่อนปิดซื้อขายด้วยราคา 54 บาท เท่ากับราคาเปิดซื้อขายช่วงเช้า มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้น 124.20% จาก 5 วันทำการก่อนหน้า โดยนับแต่ RATCH ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 2/63 ราคาหุ้นก็ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ก่อน 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาจะแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ
*** ช่วงไฮซีซั่น กลับเป็นจุดต่ำสุดของปี
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 2/63 RATCH รายงานกำไรสุทธิจำนวน 1.1 พันล้านบาท ลดลง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมองว่าเป็นจุดต่ำสุดของปีแลัว ซึ่งปกติช่วงไตรมาส 2 ของทุกปี จะเป็นช่วง High Season ของ RATCH แต่สาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิปีนี้ลดลงจากปีก่อนรุนแรง เนื่องจาก RATCH ปิดซ่อมโรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้า RatchGen IPP เป็นเวลา 125 วัน ทำให้กำไรสุทธิงวดครึ่งปีแรก มีจำนวน 2.4 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 42% ของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี
ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กำไรสุทธิไตรมาส 2/63 ของ RATCH ถูกกดดันโดยกำไรสุทธิของบริษัทย่อยที่เหลือเพียง 653 ล้านบาท ลดลง 55.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากส่วนแบ่งจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าหงสาที่ลดลงเหลือ 367 ล้านบาท จาก 1.1 พันล้านบาท เมื่อไตรมาส 1/63 เพราะโรงไฟฟ้าหงสา ต้องหยุดซ่อมบำรุงเป็นเวลานานกว่ากำหนด 125 วัน (เดิม 19 วัน) จากเหตุการณ์ฟ้าผ่าทำให้ Turbine ได้รับความเสียหาย
*** Q3 เข้าช่วงโลว์ซีซั่น แต่อาจไม่แย่อย่างที่คิด
บล.หยวนต้า ระบุว่า ช่วงไตรมาส 3 ของทุกปีจะเป็นช่วง Low Season ของ RATCH แต่มองว่ากำไรสุทธิยังมีแนวโน้มทรงตัว หรือเติบโตได้เล็กน้อย จากการรับรู้รายได้ของโรงไฟฟ้ายานดิน ขนาดกำลังผลิต 150 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย ขนาดกำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์ ที่จะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงไตรมาส 3/63
ประกอบกับ การกลับมาเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าหงสาตามปกติตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะสามารถชดเชยรายได้บางส่วนที่จะหายไปจากการหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์จี้
ขณะที่ บล.ทิสโก้ มองว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 3/63 ของ RATCH จะเติบโตขึ้นจากไตรมาสก่อนได้เล็กน้อย หลังจากที่โรงไฟฟ้าหงสา และ โรงไฟฟ้า RATCHGEN IPP กลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง ซึ่งผู้บริหาร RATCH ตั้งเป้าการผลิตไฟฟ้าในช่วงครึ่งหลังปี 63 ของโรงไฟฟ้าหงสาที่ 85 - 90%
*** จากนี้ถึงปี 66 เพิ่มกำลังผลิตปีละ 700 เมกะวัตต์
บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า จากการประชุมนักวิเคราะห์รอบล่าสุด RATCH ยังคงเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 66 จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตราว 8,300 เมกะวัตต์ ซึ่ง RATCH ตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์/ปี
โดยปีนี้ RATCH ประกาศลงทุนโครงการใหม่แล้ว 4 โครงการ รวม 213 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการ รวม 76 เมกะวัตต์ และโครงการที่ COD แล้ว 1 โครงการ ขนาดกำลังผลิต 137 เมกะวัตต์ คือ โครงการ Thang Long Coal Power Plant ในประเทศเวียดนาม ซึ่ง RATCH ถือหุ้นทางอ้อม 22% ผ่านกองทุน ABEIF ร่วมกับกลุ่ม Geleximco
โครงการนี้มีกำลังผลิตทั้งหมด 620 เมกะวัตต์ และเริ่ม COD ตั้งแต่ปี 61 โดยมีสัญญาขายไฟฟ้า 25 ปีกับการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ซึ่งมีกระทรวงการคลังของเวียดนาม เป็นผู้ค้ำประกันในส่วนของมูลค่าลงทุนโครงการ รวมถึงมีเงื่อนไขชดเชยความเสี่ยงจากค่าเงินดองหากอ่อนค่า ทำให้ RATCH มองว่ามีความน่าสนใจลงทุน และมีความเสี่ยงที่ยอมรับได้
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร RATCH ระบุว่า การหาโครงการใหม่ในอนาคต จะมุ่งเน้นหาโครงการที่ COD แล้วในลักษณะโครงการที่เวียดนามมากขึ้น เพื่อรับรู้รายได้ และกำไรทันที โดยสำหรับกองทุน ABEIF ก็มีโอกาสลงทุนเพิ่มเติมทั้งโครงการ Hydro, Wind, รวมถึงถ่านหิน และมีความเป็นไปได้ที่ RATCH จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกองทุน ABEIF มากขึ้น จากปัจุบันที่ถือ 49%
ขณะที่ บล.เคจีไอ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากปี 63 RATCH ได้เพิ่มกำลังการผลิตแล้ว 213 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังผลิตในส่วนที่เหลืออีกราว 500 เมกะวัตต์ RATCH จะหามาเพิ่มด้วยการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ โดยตั้งงบการลงทุน 1 หมื่นล้านบาท
สำหรับการเพิ่มกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนผ่านการกู้ยืม และไม่มีแผนการในการเพิ่มทุน โดยปัจจุบันอัตราหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นของ RATCH อยู่ที่ (D/E) 0.46 เท่า ซึ่งยังต่ำกว่าข้อจำกัดที่ 1.3 เท่า
*** เงินปันผลเป็นสิ่งจูงใจที่สุด?
บล.ทิสโก้ มองว่า RATCH มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นจากการเติบโตที่ยังอยู่ในระดับสูง และการจ่ายเงินปันผลที่น่าสนใจ ซึ่งผู้บริหาร RATCH ระบุว่าไม่มีนโยบายลดการจ่ายเงินปันผล โดยคาดว่ากำไรสุทธิปี 63 จะทรงตัวจากปีก่อน แต่จะเพิ่มขึ้น 36% ในช่วงปี 64 หากโรงไฟฟ้าหงสา มีความพร้อมจ่ายที่ 80% ซึ่งทุกการเปลี่ยนแปลงของความพร้อมจ่าย 5% จะกระทบผลประกอบการราว 4%
ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ราคาหุ้น RATCH ที่ปรับตัวลงมาในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าได้สะท้อนผลกระทบเชิงลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปแล้วในระดับหนึ่ง จนเริ่มเห็นอัพไซด์กว้างขึ้น พร้อมหนุน Dividend Yield ขึ้นสูงกว่า 4% ต่อปี ซึ่งมองเป็นโอกาสทยอยสะสมลงทุนรับปันผลสม่ำเสมอ สอดรับกับพื้นฐานของ RATCH ที่จะรักษาฐานการเติบโตระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
ตารางแสดงประวัติการจ่ายปันผลปี 61 - 63 ของหุ้นใหญ่ในกลุ่มโรงไฟฟ้า
หลักทรัพย์ |
ปันผลรวมปี 61 - 63 (บ./หุ้น) |
RATCH |
7.20 |
GPSC |
3.85 |
GULF |
2.90 |
BGRIM |
1.14 |
*** โบรกฯ ส่วนใหญ่แนะนำ"ซื้อ"
จากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่แนะนำ"ซื้อ" เนื่องจากมองว่าผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของ RATCH ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวจากช่วงครึ่งปีแรก ขณะเดียวกัน RATCH ยังมีแผนการเติบโตในระดับสูง และยังเป็นหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลในระดับสูง
บล. |
คำแนะนำ |
ราคาเหมาะสม (บ.) |
ทิสโก้ |
ซื้อ |
73.00 |
เคจีไอ |
ซื้อ |
74.00 |
หยวนต้า |
ซื้อ |
74.00 |
เคทีบี |
ซื้อ |
77.00 |
ราคาเฉลี่ย |
74.50 |
ต้องบอกว่าการเข้าลงทุนใน RATCH ช่วงนี้เพื่อหวังเก็งกำไรระยะสั้นคงจะดูไม่เหมาะสมเท่าไรนัก เนื่องจากราคาหุ้นขณะนี้ยังอยู่ในช่วงแกว่งตัว ซึ่งผลการดำเนินงานครึ่งปีหลัง มีแน้วโน้มจะเติบโตขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกก็จริง แต่ยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร
แต่สำหรับนักลงทุนที่สามารถถือหุ้นระยะยาวได้ ก็อาจเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าสะสม เนื่องจากต้นทุนปัจจุบันเมื่อเทียบกับราคาเหมาะสมของนักวิเคราะห์ถือว่ายังไม่แพง โดย RATCH ยังมีการจ่ายเงินปันผลที่สูงพอสมควร ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับจูงใจนักลงทุน ขณะเดียวกัน RATCH ยังมีแผนรักษาการเติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย...
0 Response to "RATCH เข้าโลว์ซีซั่น ..แต่ทำไมยังน่าซื้อ? - efinanceThai"
Post a Comment